เกษตรพอเพียงกับทักษะทางความคิดของเด็ก

เด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปีบริบูรณ์นั้น การอบรมและเลี้ยงดูและปลูกฝังในเรื่องแนวคิดต่างๆ มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องการการเรียนรู้ในสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัว ผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้าน จากบิดา มารดา จากคนรอบข้างและและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดพัฒนาการที่เป็นรากฐานของบุคลิกภาพ อุปนิสัย และการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและจิตใจ สมอง สติปัญญา ความสามารถ ในทุกๆ ด้านจนหยั่งลึกถึงส่วนลึกในจิตใจและมีผลกระทบต่อความเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต

เพราะเด็กในช่วงนี้ (ตั้งแต่ปฏิสนธิในครรภ์แม่จนถึง 4 ปี) ระบบประสาทและสมองจะเจริญเติบโตในอัตราสูงสุด (ประมาณ 80 % ของผู้ใหญ่) การอบรมปลูกฝังสร้างเสริมพัฒนาการทุกด้านให้แก่เด็กได้เจริญเติบโตเต็มศักยภาพในช่วงอายุนี้ จะเป็นรากฐานที่ดีจะให้เขาเติบโตเป็นเยาวชนและพลเมืองที่ดี เฉลียวฉลาด คิดเป็น ทำเป็น และมีความสุข

เด็กจะมีชีวิตรอดและเติบโตได้ก็ด้วยการพึ่งพาพ่อแม่ และผู้ใหญ่ที่ช่วยเลี้ยงดู ปกป้องจากอันตราย หากผู้ใหญ่ให้ความรักเอาใจใส่ใกล้ชิด อบรมเลี้ยงดูโดยเข้าใจเด็ก และพร้อมที่จะตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่เปลี่ยนไปตามวัยได้อย่างเหมาะสม ให้สมดุลย์กันทั้งด้านร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สติปัญญา และสังคมแล้ว เด็กจะเติบโตแข็งแรง แจ่มใส มีความมั่นคงทางใจ รู้ภาษา ใฝ่รู้ และใฝ่ดี พร้อมที่จะพัฒนาตนเองในขั้นต่อไป ให้เป็นคนเก่งและคนดีอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขและมีประโยชน์

ประเทศไทยเองนับแต่อดีตจนปัจจุบัน เราทุกคนล้วนรับรู้เสมอว่าเป็นประเทศกสิกรรม ยิ่งพ่อหลวงทรงแนะแนวทางในการใช้ชีวิตพอเพียง การกสิกรรมและความพอเพียงจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ ดังนั้น การปลูกฝังในเรื่องของการเกษตรพอเพียงให้แก่เด็กๆ จึงเป็นสิ่งที่ไม่แปลกและควรจะกระทำอย่างยิ่ง เพราะทักษะทางความคิดของเด็กวัยนี้ ล้วนพร้อมรับรู้ในสิ่งต่างๆ รอบตัว และจะนำสิ่งที่ได้รับไปพัฒนาให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพต่อไป

หากนับจากเด็กๆ ตามต่างจังหวัดในประเทศไทยแล้ว ส่วนใหญ่มีความคิดและทักษะในการเรียนรู้เรื่องเกษตรดีอยู่แล้ว เพราะพ่อแม่เป็นชาวนา มีการปลูกพืช และเลี้ยงสัตว์ไว้กิน เหลือกินก็ขาย เด็กๆ จะได้รับรู้ถึงการดำรงชีวิตในแบบที่พ่อแม่ได้ปลูกฝังไว้ การปฏิบัติตามหลักและแนวทางของเกษตรพอเพียง และอื่นๆ จนสามารถพัฒนาหลักและแนวคิดให้ก้าวไกลต่อไป สิ่งเหล่านี้ จึงถือเป็นหัวใจหลัก ที่โรงเรียนอนุบาลหลายแห่ง บรรจุหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องเกษตรให้แก่เด็กๆ แม้มองในภาพรวมอาจไม่ได้รับผลผลิตที่ดี ไม่มีการทำเกษตรอย่างเป็นระบบ แต่เป้าหมายคือปลูกฝังให้เค้าได้คิดและพัฒนาทักษะการเรียนรู้หลายด้านแก่เด็ก โดยเฉพาะหลักสูตรที่เป็นสนามทดลอง ให้เด็กๆ ได้ลองปลูกผักและให้เฝ้าดูการเจริญเติบโตของพืชที่เค้าปลูก

การใช้โครงการการเกษตรพอเพียงเป็นสนามทดลองให้กับเด็กๆ จะช่วยปูพื้นฐานการเรียนรู้ การลงมือกระทำซึ่งจะทำให้เด็กสนุกและมีความสุข แม้จะยังไม่สามารถเข้าใจวิถีพอเพียงได้มากนักก็ตาม แต่ฐานต้นที่ดีจะส่งต่อแนวคิดไปในภายภาคหน้า ซึ่งรูปแบบนี้เรียกว่า กระบวนการเรียนการสอนแบบ Thematic Approch

ที่สำคัญในภาครัฐเองก็ยังคงส่งเสริมให้เด็กไทยหันมาสนใจเกษตรได้อีกทางหนึ่ง นั่นคือ โครงการ เด็กไทยหัวใจเกษตร โดยทุกหน่วยงานมักมีกิจกรรมสร้างความสนุกสนาน ความบันเทิง สาระความรู้ด้านการเกษตร ให้แก่เด็กๆ มีกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้สัมผัสกับภาคเกษตรกรรมอย่างใกล้ชิดผ่านกิจกรรมสาธิตด้านการเกษตรต่างๆ รวมถึงมีพื้นที่ให้ทดลองทำกิจกรรมทางการเกษตรด้วยตนเอง เช่น การดำนาข้าวในแปลงนาสาธิต การปลูกผักสวนครัว การเลี้ยงปลาสวยงาม การทดลองสาวไหม-ทอผ้า การฝึกหัดทำบัญชีครัวเรือน การทำปุ๋ยอินทรีย์จากเศษอาหาร และอีกหลายกิจกรรมที่จะปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนรู้สึกใกล้ชิดกับภาคเกษตรกรรมมากขึ้น รวมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่ภาคเกษตร

ที่มา เกษตรออแกนิก / ภาพ www.taurakschool.net

บล็อกของน้องแก้มหอม

เนื้อหาที่เกี่ยวข้องในบล็อกพี่เปรม